กรมอนามัย พร้อมให้ข้อมูลข่าวสารที่มีประโยชน์สำหรับคุณ
สถานบันเทิง เป็นสถานที่ที่มีกิจกรรมการแสดงดนตรี ร้องเพลง เต้นรำ การจำหน่ายอาหาร และเครื่องดื่ม การขยายเวลาเปิดสถานบันเทิง ถึงเวลา 04.00 น. เพื่อรองรับการท่องเที่ยวและกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศตามนโยบายรัฐบาล โดยมีเป้าหมายการดำเนินงานนำร่องในเขตพื้นที่จังหวัดท่องเที่ยว อาทิ กรุงเทพมหานคร ชลบุรี ภูเก็ต และเชียงใหม่ อาจก่อให้เกิดผลกระทบที่สำคัญแก่ประชาชนที่อยู่อาศัยในบริเวณใกล้เคียง คือ ปัญหาเหตุรำคาญจากเสียงรบกวน นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงปัญหาด้านสุขลักษณะและอนามัยสิ่งแวดล้อม เช่น ความสะอาดของอาคาร สถานที่ วัสดุอุปกรณ์ เครื่องมือเครื่องใช้ การระบายอากาศ ความปลอดภัยของอาคาร ทางหนีไฟ เครื่องดับเพลิง รวมทั้งปัญหาโรคติดต่อทางระบบทางเดินหายใจ ผิวหนัง ทางเดินอาหาร เป็นต้น หากสถานบันเทิงปฏิบัติไม่ถูกต้องด้วยสุขลักษณะ หรือไม่ปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนด อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ปฏิบัติงานและผู้มาใช้บริการ
กรมอนามัย ในฐานะรับผิดชอบดูแลพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม จึงจัดทำแนวทางการปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุขในการควบคุมดูแลกิจการสถานบันเทิง เพื่อรองรับการท่องเที่ยวและกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศตามนโยบายของรัฐบาล เพื่อให้ราชการส่วนท้องถิ่นและส่วนราชการที่เกี่ยวข้องสามารถบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุขในการควบคุมดูแลกิจการสถานบันเทิงในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีแนวทางปฏิบัติดังนี้
1. แนวปฏิบัติสำหรับราชการส่วนท้องถิ่นและเจ้าพนักงานตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข
พระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม หรือกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข มีเจตนารมณ์ในการคุ้มครองประชาชนในด้านสุขลักษณะและอนามัยสิ่งแวดล้อม โดยกระจายอำนาจให้แก่ราชการส่วนท้องถิ่นในการออกข้อบัญญัติท้องถิ่นและบังคับใช้กฎหมายในการควบคุมดูแลการประกอบกิจการต่าง ๆ เพื่อป้องกันแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ โดยราชการส่วนท้องถิ่นสามารถดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ได้ดังนี้
1.1 การควบคุมดูแลสถานประกอบกิจการเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม หมวด 7 มาตรา 31 ให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โดยคำแนะนำของคณะกรรมการสาธารณสุข มีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษากำหนดให้กิจการใดเป็นกิจการที่เป็นอันตราย ต่อสุขภาพ ซึ่งปัจจุบันออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กิจการที่เป็นอันตรายต่อสุภาพ พ.ศ. 2558 ข้อ 9 (8) กำหนดให้ “การจัดให้มีมหรสพ การแสดงดนตรี เต้นรำ รำวง รองเง็ง ดิสโกเทก คาราโอเกะ หรือตู้เพลง หรือการแสดงอื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน” เป็นกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ และมาตรา 32 กำหนดให้ราชการส่วนท้องถิ่นมีอำนาจออกข้อบัญญัติท้องถิ่น กำหนดประเภทของกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขที่ออกตามมาตรา 31 บางกิจการหรือทุกกิจการให้เป็นกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพที่ต้องควบคุมภายในท้องถิ่นนั้น รวมทั้งกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขเกี่ยวกับการดูแลสภาพ หรือสุขลักษณะของสถานที่ที่ใช้ดำเนินกิจการและมาตรการป้องกันอันตรายต่อสุขภาพ และมาตรา 33 กำหนดให้ผู้ดำเนินกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพตามประเภทที่ราชการส่วนท้องถิ่นกำหนดไว้ในข้อบัญญัติท้องถิ่นให้เป็นกิจการที่ต้องควบคุม โดยกระทำในลักษณะที่เป็นการค้าต้องได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นก่อนเริ่มดำเนินกิจการและต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม กฎกระทรวงควบคุมสถานประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ พ.ศ. 2560 และข้อบัญญัติท้องถิ่นที่ออกตามพระราชบัญญัตินี้ หากผู้ใดประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพประเภทที่ราชการส่วนท้องถิ่นออกข้อบัญญัติท้องถิ่นกำหนดให้เป็นกิจการที่ต้องควบคุมในพื้นที่ในลักษณะที่เป็นการค้า โดยไม่ได้รับใบอนุญาตถือเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนบทบัญญัติตามมาตรา 33 และมีโทษตามมาตรา 71 แห่งพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
1.2 การควบคุมดูแลสถานที่จำหน่ายอาหาร ในกรณีที่สถานบันเทิงมีการปรุงประกอบอาหารจนสำเร็จ เพื่อจำหน่ายให้ลูกค้าที่มาใช้บริการสถานบันเทิง ซึ่งเข้าข่ายตามคำนิยาม “สถานที่จำหน่ายอาหาร”ตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม สถานประกอบกิจการสถานบันเทิงดังกล่าวจะต้องขอรับใบอนุญาตหรือขอรับหนังสือรับรองการแจ้งต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นด้วย โดยพระราชบัญญัตินี้ หมวด 8 มาตรา 40 ให้อำนาจราชการส่วนท้องถิ่นออกข้อบัญญัติท้องถิ่นกำหนดหลักเกณฑ์เพื่อดูแลสถานที่จำหน่ายอาหาร และมาตรา 38 กำหนดให้ผู้ใดจะจัดตั้งสถานที่จำหน่ายอาหารหรือสถานที่สะสมอาหารในอาคารหรือพื้นที่ใดซึ่งมีพื้นที่เกินสองร้อยตารางเมตรและมิใช่เป็นการขายของในตลาด ต้องได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามมาตรา 56 ถ้าสถานที่ดังกล่าวมีพื้นที่ไม่เกินสองร้อยตารางเมตร ต้องแจ้งต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่น เพื่อขอรับหนังสือรับรองการแจ้งตามมาตรา ๔8 ก่อนการจัดตั้ง และต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม กฎกระทรวงสุขลักษณะของสถานที่จําหน่ายอาหาร พ.ศ. 2561 และประกาศที่ออกตามกฎกระทรวงฯ ฉบับนี้ และข้อบัญญัติท้องถิ่นที่ออกตามพระราชบัญญัตินี้ หากผู้ใดจัดตั้งสถานที่จำหน่ายอาหารตามมาตรา 38 ซึ่งมีพื้นที่เกินสองร้อยตารางเมตรโดยไม่ได้รับใบอนุญาต มีโทษตามมาตรา 72 แห่งพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท กรณีมีพื้นที่ไม่เกินสองร้อยตารางเมตรโดยไม่ได้รับหนังสือรับรองการแจ้ง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินสองหมื่นห้าพันบาท
1.3 การควบคุมป้องกันแก้ไขปัญหาเหตุรำคาญ ตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม หมวด 5 มาตรา 25 ในกรณีที่มีเหตุอันอาจก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ผู้อยู่อาศัยในบริเวณใกล้เคียงหรือผู้ที่ต้องประสบกับเหตุนั้นต่อไปนี้ถือว่าเป็นเหตุรำคาญ มาตรา 25 (4) การกระทำใด ๆ อันเป็นเหตุให้เกิดกลิ่น แสง รังสี เสียง ความร้อน สิ่งมีพิษ ความสั่นสะเทือน ฝุ่น ละออง เขม่า เถ้า หรือกรณีอื่นใด จนเป็นเหตุให้เสื่อมหรืออาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ดังนั้น เจ้าพนักงานตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุขสามารถบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุขในการควบคุมป้องกันแก้ไขปัญหาเหตุรำคาญ ได้ดังนี้
1.3.1 กรณีที่เป็นเหตุรำคาญโดยทั่วไป
1) กรณีเหตุรำคาญเกิดขึ้นในที่หรือทางสาธารณะ เจ้าพนักงานท้องถิ่นสามารถใช้อำนาจตามมาตรา 27 วรรคหนึ่ง ในการออกคำสั่งเป็นหนังสือให้แก่ผู้ที่ก่อให้เกิดเหตุรำคาญนั้น หากไม่ทราบหรือไม่มีผู้ก่อเหตุ เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจในการปรับปรุงสถานที่นั้นจนเหตุรำคาญนั้นหมดไปได้
2) กรณีแหล่งกำเนิดเหตุรำคาญอยู่ในที่เอกชน เจ้าพนักงานท้องถิ่นสามารถใช้อำนาจตามมาตรา 28 วรรคหนึ่ง ในการออกคำสั่งเป็นหนังสือให้แก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองสถานที่เอกชนนั้นให้ดำเนินการแก้ไข ปรับปรุง จนเหตุรำคาญนั้นหมดไปหรือบรรเทาลง ทั้งนี้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถกำหนดมาตรการในการแก้ไขปรับปรุงที่สามารถแก้ไขให้เหตุดังกล่าวนั้นให้หมดไป หรือบรรเทาลง โดยต้องคำนึงถึงความเป็นไปได้ในทางเศรษฐกิจ สังคมและเทคโนโลยีประกอบการกำหนดมาตรการในการแก้ไขปรับปรุงนั้นด้วย
โดยที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจออกคำสั่งเป็นหนังสือให้แก่ผู้ที่ก่อเหตุเป็นราย ๆ ไป โดยต้องระบุวิธีการป้องกันหรือแก้ไข และกำหนดระยะเวลาในการปฏิบัติตามคำสั่งให้ชัดเจน ทั้งนี้ ไม่จำเป็นต้องรอให้มีผู้ร้องเรียนหากพบเห็นหรือได้รับแจ้งจากเจ้าพนักงานสาธารณสุข หรือผู้ซึ่งได้รับแต่งตั้งจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น
1.3.2 กรณีที่เหตุรำคาญนั้นอาจกระทบต่อสภาพความเป็นอยู่ที่เหมาะสมหรืออาจเป็นอันตรายร้ายแรงต่อสุขภาพ
1) ในกรณีร้ายแรง อธิบดีกรมอนามัยมีอำนาจตามมาตรา 8 ในการออกคำสั่งเป็นหนังสือแก่ผู้ก่อเหตุนั้นให้ระงับการดำเนินการที่ก่อให้เกิดเหตุรำคาญตามที่เห็นสมควร หากผู้ก่อเหตุไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง อธิบดีกรมอนามัยสามารถสั่งเจ้าพนักงานสาธารณสุข หรือแจ้งต่อผู้ว่าราชการจังหวัดให้ออกคำสั่งให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดดำเนินการแก้ไขหรือระงับเหตุนั้นตามสมควร อีกทั้ง อธิบดีกรมอนามัย ยังสามารถใช้อำนาจตามมาตรา 8/1 ในการประสานขอให้คณะกรรมการสาธารณสุขจังหวัดหรือคณะกรรมการสาธารณสุขกรุงเทพมหานครดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงหรือให้ความเห็นประกอบการออกคำสั่งตามมาตรา 8 โดยไม่ชักช้า
2) กรณีแหล่งกำเนิดเหตุรำคาญเป็นที่สาธารณะ เจ้าพนักงานท้องถิ่นสามารถใช้อำนาจตามมาตรา 27 วรรคสอง ในการจัดการระงับเหตุรำคาญนั้นตามที่จำเป็นและเก็บค่าใช้จ่ายในการดำเนินการกับผู้ก่อเหตุ
3) กรณีแหล่งกำเนิดเหตุรำคาญอยู่ในสถานที่เอกชน เจ้าพนักงานท้องถิ่นสามารถใช้อำนาจตาม มาตรา 28 วรรคสาม ในการออกคำสั่งเป็นหนังสือห้ามไม่ให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองใช้หรือยินยอมให้บุคคลใดใช้สถานที่นั้นทั้งหมดหรือบางส่วน จนกว่าจะได้มีการระงับเหตุรำคาญนั้นแล้ว
4) ในกรณีร้ายแรง เจ้าพนักงานสาธารณสุขมีอำนาจตามมาตรา 46 วรรคสอง ในการออกคำสั่งเป็นวาจาหรือหนังสือแก่ผู้ก่อเหตุนั้นให้ระงับการดำเนินการที่ก่อให้เกิดเหตุรำคาญตามที่เห็นสมควร แล้วจึงแจ้งให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นทราบ และอาจให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นออกคำสั่งเป็นหนังสือตามที่ผู้รับคำสั่งร้องขอภายใน 7 วัน
1.4 อำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข เจ้าพนักงานตามกฎหมายว่าด้วย การสาธารณสุข ได้แก่ เจ้าพนักงานสาธารณสุข เจ้าพนักงานท้องถิ่น และผู้ซึ่งได้รับแต่งตั้งจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น
มีอำนาจหน้าที่ตามมาตรา 44 วรรคหนึ่ง ในการ (1) เรียกบุคคลมาให้ถ้อยคำ ทำคำชี้แจง หรือส่งเอกสาร (2) เข้าไปในอาคารหรือสถานที่ใด ๆ ในระหว่างพระอาทิตย์ขึ้น ถึงพระอาทิตย์ตก หรือในเวลาทำการของสถานที่ดังกล่าว เพื่อตรวจสอบ ควบคุม หรือดูหลักฐาน (3) แนะนำให้ผู้ประกอบการปฏิบัติให้ถูกต้องตามเงื่อนไขหรือข้อบัญญัติท้องถิ่น (4) ยึดหรืออายัด สิ่งของใด ๆ ที่อาจเป็นอันตรายเพื่อดำเนินคดี หรือทำลายในกรณีที่จำเป็น และ (5) เก็บหรือนำสินค้า หรือสิ่งของใด ๆ ที่สงสัยหรืออาจก่อเหตุรำคาญในปริมาณที่สมควรเพื่อเป็นตัวอย่างในการตรวจสอบโดยไม่ต้องใช้ราคา
เพื่อให้การควบคุมดูแลกิจการสถานบันเทิง ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เจ้าพนักงานตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข สามารถดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ได้ดังนี้
1.4.1 ตรวจเตือน หรือตรวจตราให้คำแนะนำ โดยดำเนินเชิงรุกในการตรวจตรา ให้คำแนะนำ และสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนและผู้ประกอบกิจการ
1) ตรวจตราการประกอบกิจการ และกิจกรรมหรือการกระทำต่าง ๆ เพื่อให้ปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมาย โดยต้องตรวจตราเป็นประจำสม่ำเสมอ ให้ทั่วถึงและครอบคลุมในพื้นที่ที่รับผิดชอบ โดยต้องมีแผนงานโครงการ แผนงาน หรือกิจกรรมการดำเนินการตรวจตราเชิงรุกที่ชัดเจน
2) ประชาสัมพันธ์สร้างความรอบรู้ และสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ทั้งภาคเอกชน ประชาชน และภาครัฐที่เกี่ยวข้อง
3) หากตรวจตราหรือดำเนินการเชิงรุก แล้วพบว่า ผู้ประกอบกิจการสถานบันเทิงปฏิบัติไม่ถูกสุขลักษณะหรือมีการดำเนินกิจการในลักษณะที่ไม่เหมาะสมมีความเสี่ยงอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพหรือเกิดเหตุรำคาญ หรือกรณีพบว่าสถานประกอบการยังไม่เข้าใจหรือยังปฏิบัติไม่ถูกต้องครบถ้วนตามกฎหมายหรือมาตรการที่ทางราชการกำหนดเจ้าพนักงานต้องให้คำแนะนำปรึกษาเพื่อให้ปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง และให้ออกแบบตรวจแนะนำไว้เป็นหลักฐาน สำหรับใช้ประกอบการตรวจติดตามว่าสถานประกอบกิจการได้มีการปฏิบัติตามคำแนะนำแล้วหรือไม่อย่างไร เพื่อจะได้บังคับใช้อำนาจตามกฎหมายในขั้นตอนต่อไป
1.4.2 ตรวจสอบ ควบคุมกำกับดูแล และออกคำสั่งทางปกครอง เพื่อเฝ้าระวังการกระทำความผิดโดยดำเนินการตรวจสอบ กำกับติดตาม ประเมิน ผู้ประกอบกิจการหรือประชาชนที่เคยได้รับคำแนะนำ หรือได้รับแบบตรวจแนะนำของเจ้าพนักงานว่าได้มีการปรับปรุงแก้ไขหรือปฏิบัติตามคำแนะนำแล้วหรือไม่ หากพบว่ามีการปฏิบัติตามคำแนะนำแล้ว ให้แจ้งยุติเรื่องต่อผู้บังคับบัญชาและผู้เกี่ยวข้องต่อไป แต่หากพบว่าไม่ได้มีการปฏิบัติตามคำแนะนำ ให้เจ้าพนักงานรวบรวมพยานหลักฐาน และดำเนินการเสนอเจ้าพนักงานท้องถิ่นออกคำสั่งทางปกครองเพื่อให้ปรับปรุงแก้ไข หรือหยุดประกอบกิจการไว้ทันทีเป็นการชั่วคราว ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงของการกระทำความผิดนั้น ๆ
1.4.3 การเปรียบเทียบปรับและดำเนินคดี กรณีที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นออกคำสั่งทางปกครองเพื่อให้ผู้ประกอบกิจการปรับปรุงแก้ไข หรือหยุดประกอบกิจการแล้วพบว่าผู้รับคำสั่งฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งทางปกครอง หรือในกรณีที่พบว่าผู้ประกอบกิจการโดยไม่ได้รับใบอนุญาตก่อนการดำเนินกิจการ หรือกรณีพบว่าผู้ประกอบกิจการไม่ปฏิบัติตามกฎกระทรวง หรือประกาศกระทรวง ซึ่งถือเป็นความผิดสำเร็จแล้ว ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นรวบรวมพยานหลักฐานการกระทำความผิดและดำเนินการตามกระบวนการขั้นตอนการเปรียบเทียบปรับและดำเนินคดีต่อไป
2. บทบาทหน้าที่ของผู้ประกอบกิจการ
ผู้ใดที่จะจัดตั้งสถานประกอบกิจการตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข เช่น สถานบันเทิง ดิสโกเทก คาราโอเกะ สถานที่จำหน่ายอาหาร เป็นต้น ต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมายและมาตรการที่ทางราชการกำหนด ดังนี้
2.1 ให้ตรวจสอบข้อบัญญัติท้องถิ่นในพื้นที่ที่ประสงค์จะจัดตั้งสถานประกอบกิจการ และต้องขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการ หรือหนังสือรับรองการแจ้ง ตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข ก่อนการดำเนินกิจการ โดยยื่นต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่เป็นที่ตั้งของสถานประกอบกิจการนั้น
2.2 ปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในข้อบัญญัติท้องถิ่น กฎกระทรวง ประกาศกระทรวงที่เกี่ยวข้องที่ออกตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข อาทิ กรณีประกอบกิจการดิสโกเทก คาราโอเกะ ต้องปฏิบัติตามกฎกระทรวงควบคุมสถานประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ พ.ศ. 2560 โดยเฉพาะใน ข้อ 22 ที่กำหนดให้สถานประกอบกิจการใดที่การประกอบกิจการอาจก่อให้เกิดมลพิษทางเสียง มลพิษทางอากาศ มลพิษทางน้ำ มลพิษทางแสง มลพิษทางความร้อน มลพิษทางความสั่นสะเทือน ของเสียงอันตรายหรือมีการใช้สารเคมีหรือวัตถุอันตราย จะต้องดำเนินการควบคุมและป้องกันมิให้เกิดผลกระทบจนเป็นเหตุรำคาญ หรืออาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้ปฏิบัติงาน และผู้อยู่อาศัยบริเวณใกล้เคียง หรือผู้ที่ต้องประสบกับเหตุนั้น หรือกรณีสถานที่จำหน่ายอาหารต้องปฏิบัติตามกฎกระทรวงสุขลักษณะของสถานที่จําหน่ายอาหาร พ.ศ. 2561 โดยเฉพาะในข้อ ข้อ 21 (2) ที่กำหนดให้ผู้ประกอบกิจการและผู้สัมผัสอาหารต้องผ่านการอบรมตามหลักเกณฑ์ และวิธีการที่รัฐมนตรี โดยคำแนะนำของคณะกรรมการประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา
3. บทบาทหน้าที่ของประชาชนและภาคประชาสังคม
ประชาชน และภาคประชาสังคม มีส่วนสำคัญในการเฝ้าระวังการประกอบกิจการสถานบันเทิงเพื่อป้องกันแก้ไขปัญหาเหตุรำคาญ โดยมีบทบาทหน้าที่ในการปกป้องและพิทักษ์สิทธิตนเอง ชุมชน และครอบครัว ในการสอดส่อง ดูแล และมีส่วนร่วมเฝ้าระวังกับเจ้าหน้าที่รัฐ ในกรณีที่พบเห็นการประกอบกิจการหรือกิจกรรมการกระทำต่าง ๆ ที่อาจก่อให้เกิดเหตุเดือดร้อนรำคาญหรือมีความเสี่ยงส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ให้แจ้งเจ้าพนักงาน หรือเจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อให้เข้ามาตรวจสอบหรือดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ โดยสามารถแจ้งเหตุหรือร้องเรียนได้ โดยตรงที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่
แนวปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุขใ.pdf |
ขนาดไฟล์ 1MB
ดาวน์โหลด 79 ครั้ง
|
ดาวน์โหลด
แจ้งไฟล์เสีย |
|
แนวปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุขใ.doc |
ขนาดไฟล์ 889KB
ดาวน์โหลด 41 ครั้ง
|
ดาวน์โหลด
แจ้งไฟล์เสีย |