กรมอนามัย พร้อมให้ข้อมูลข่าวสารที่มีประโยชน์สำหรับคุณ
การเล่นพลุ ประทัด หรือดอกไม้เพลิง ในช่วงเทศกาลลอยกระทง เป็นกิจกรรมที่สร้างความสนุกสนานรื่นเริง และได้รับความนิยมในหมู่เด็ก ๆ และวัยรุ่น แต่กิจกรรมดังกล่าวมีความเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุทำให้บาดเจ็บหรือเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ อีกทั้งยังสร้างความเดือดร้อนรำคาญแก่ผู้อยู่อาศัยในบริเวณใกล้เคียงหรือผู้ประสบเหตุนั้น ซึ่งมักจะมีข่าวอยู่บ่อยครั้ง เช่น เด็กเล่นปะทัดระเบิดใส่มือจนนิ้วขาด มีการผลิต และสะสมดอกไม้เพลิงโดยผิดกฎหมาย หรือมีการปฏิบัติไม่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดจนเป็นเหตุให้เกิดการระเบิด หรือเกิดไฟไหม้อาคารบ้านเรือนส่งผลให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต เป็นต้น เพื่อเป็นการควบคุมป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชนและชุมชน หน่วยงานทุกภาคส่วน ทั้งประชาชน ผู้ประกอบกิจการ และเจ้าหน้าที่ภาครัฐ จึงจำเป็นต้องร่วมมือกันเฝ้าระวัง และกวดขันไม่ให้มีการผลิต สะสม ขนส่ง และจำหน่าย พลุ/ ปะทัด/ ดอกไม้เพลิง แบบผิดกฎหมาย
พระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม หรือกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข เป็นกฎหมายฉบับหนึ่งที่ใช้ ในการควบคุมดูแลการผลิต สะสม ขนส่งดอกไม้เพลิง และการกระทำใด ๆ ที่อาจก่อให้เกิดความเดือดร้อนหรืออาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาชน โดยกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข มีเจตนารมณ์ในการคุ้มครองประชาชนในด้านสุขลักษณะและอนามัยสิ่งแวดล้อม หลักการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อป้องกันแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ โดยราชการส่วนท้องถิ่นสามารถบังคับใช้มาตรการทางกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข ได้ดังนี้
1. การควบคุุม กำกับดูแล กิจการผลิต สะสม ขนส่งดอกไม้เพลิง หรือสารเคมีอันเป็นส่วนประกอบในการผลิตดอกไม้เพลิง ซึ่งเป็นกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข โดย
พระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม หมวด 7 กิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ มาตรา 31 ให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โดยคำแนะนำของคณะกรรมการสาธารณสุข มีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษากำหนดให้กิจการใดเป็นกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ซึ่งปัจจุบันออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กิจการที่เป็นอันตรายต่อสุภาพ พ.ศ. 2558 ข้อ 12 (14) กำหนดให้ “การผลิต สะสม ขนส่งดอกไม้เพลิง หรือสารเคมีอันเป็นส่วนประกอบในการผลิตดอกไม้เพลิง” เป็นกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ และมาตรา 32 กำหนดให้ราชการส่วนท้องถิ่นมีอำนาจออกข้อบัญญัติท้องถิ่น กำหนดประเภทของกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขที่ออกตามมาตรา 31 บางกิจการหรือทุกกิจการให้เป็นกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ที่ต้องควบคุมภายในท้องถิ่นนั้น รวมทั้งกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขเกี่ยวกับการดูแลสภาพ หรือสุขลักษณะของสถานที่ที่ใช้ดำเนินกิจการและมาตรการป้องกันอันตรายต่อสุขภาพ และมาตรา 33 กำหนดให้ผู้ดำเนินกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพตามประเภทที่ราชการส่วนท้องถิ่นกำหนดไว้ในข้อบัญญัติท้องถิ่นให้เป็นกิจการที่ต้องควบคุม โดยกระทำในลักษณะที่เป็นการค้า ต้องได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นก่อนเริ่มดำเนินกิจการ และต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม กฎกระทรวงควบคุมสถานประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ พ.ศ. ๒๕๖๐ และข้อบัญญัติท้องถิ่นที่ออกตามพระราชบัญญัตินี้
ดังนั้น หากผู้ใดประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพประเภทเกี่ยวกับการผลิต สะสม ขนส่งดอกไม้เพลิง หรือสารเคมีอันเป็น ส่วนประกอบในการผลิตดอกไม้เพลิงที่ราชการส่วนท้องถิ่นออกข้อบัญญัติท้องถิ่นกำหนดให้เป็นกิจการที่ต้องควบคุมในพื้นที่ในลักษณะที่เป็นการค้า โดยไม่ได้รับใบอนุญาตถือเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนบทบัญญัติตามมาตรา 33 และมีโทษตามมาตรา 71 แห่งพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
2. การควบคุมดูแลประชาชน/ผู้เล่นดอกไม้เพลิง ไม่ให้ก่อเหตุรำคาญ โดย
ราชการส่วนท้องถิ่นหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ได้แก่ เทศบาล อบต. กรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา สามารถออกประกาศแจ้งเตือนประชาชนในการเล่นดอกไม้เพลิงอย่างปลอดภัย และไม่ก่อให้เกิดเหตุเดือดร้อนรำคาญแก่ประชาชน กรณี อปท. ใดมีการจัดประเพณีลอยกระทง สามารถจัดพื้นที่เฉพาะสำหรับการเล่นดอกไม้เพลิง โดยต้องอยู่ภายใต้การควบคุมดูแล และมีระบบความปลอดภัยควบคุมเหตุที่อาจเกิดขึ้นไว้ด้วย
กรณี อปท. พบว่ามีการเล่นดอกไม้เพลิงที่มีความเสี่ยงอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ ก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญแก่ผู้อยู่อาศัยในบริเวณใกล้เคียง พระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม หมวด 5 เหตุรำคาญ มาตรา 25 ในกรณีที่มีเหตุอันอาจก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ผู้อยู่อาศัยในบริเวณใกล้เคียงหรือผู้ที่ต้องประสบกับเหตุนั้นต่อไปนี้ถือว่าเป็นเหตุรำคาญ มาตรา 25 (4) การกระทำใด ๆ อันเป็นเหตุให้เกิดกลิ่น แสง รังสี เสียง ความร้อน สิ่งมีพิษ ความสั่นสะเทือน ฝุ่นละออง เขม่า เถ้า หรือกรณีอื่นใด จนเป็นเหตุให้เสื่อมหรืออาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ซึ่งเจ้าพนักงานมีอำนาจออกคำแนะนำ และออกคำสั่งให้ผู้ก่อเหตุรำคาญดำเนินการระงับเหตุรำคาญหรือป้องกันเหตุรำคาญนั้นตามสมควรได้ รายละเอียดดังนี้
กรณีที่เป็นเหตุรำคาญโดยทั่วไป
1) กรณีเหตุรำคาญเกิดขึ้นในที่หรือทางสาธารณะ เจ้าพนักงานท้องถิ่นสามารถใช้อำนาจตามมาตรา 27 วรรคหนึ่ง ในการออกคำสั่งเป็นหนังสือให้แก่ผู้ที่ก่อให้เกิดเหตุรำคาญนั้น หากไม่ทราบหรือไม่มีผู้ก่อเหตุ เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจในการปรับปรุงสถานที่นั้นจนเหตุรำคาญนั้นหมดไปได้
2) กรณีแหล่งกำเนิดเหตุรำคาญอยู่ในที่เอกชน เจ้าพนักงานท้องถิ่นสามารถใช้อำนาจตามมาตรา 28 วรรคหนึ่ง ในการออกคำสั่งเป็นหนังสือให้แก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองสถานที่เอกชนนั้นให้ดำเนินการแก้ไข ปรับปรุง จนเหตุรำคาญนั้นหมดไปหรือบรรเทาลง ทั้งนี้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถกำหนดมาตรการในการแก้ไข ปรับปรุงอย่างไรก็ได้ที่สามารถแก้ไขให้เหตุดังกล่าวนั้นให้หมดไป หรือบรรเทาลง โดยต้องคำนึงถึงความเป็นไปได้ในทางเศรษฐกิจ สังคมและเทคโนโลยีประกอบการกำหนดมาตรการในการแก้ไขปรับปรุงนั้นด้วย
โดยที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจออกคำสั่งเป็นหนังสือให้แก่ผู้ที่ก่อเหตุเป็นราย ๆ ไป โดยต้องระบุวิธีการป้องกันหรือแก้ไข และกำหนดระยะเวลาในการปฏิบัติตามคำสั่งให้ชัดเจน ทั้งนี้ ไม่จำเป็นต้องรอให้มีผู้ร้องเรียน หากพบเห็นหรือได้รับแจ้งจากเจ้าพนักงานสาธารณสุข หรือผู้ซึ่งได้รับแต่งตั้งจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น
กรณีที่เหตุรำคาญนั้นอาจกระทบต่อสภาพความเป็นอยู่ที่เหมาะสมหรืออาจเป็นอันตรายร้ายแรงต่อสุขภาพ
1) ในกรณีร้ายแรง อธิบดีกรมอนามัยมีอำนาจตามมาตรา 8 ในการออกคำสั่งเป็นหนังสือแก่ผู้ก่อเหตุนั้นให้ระงับการดำเนินการที่ก่อให้เกิดเหตุรำคาญตามที่เห็นสมควร หากผู้ก่อเหตุไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง อธิบดีกรมอนามัยสามารถสั่งเจ้าพนักงานสาธารณสุข หรือแจ้งต่อผู้ว่าราชการจังหวัดให้ออกคำสั่งให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดดำเนินการแก้ไขหรือระงับเหตุนั้นตามสมควร อีกทั้ง อธิบดีกรมอนามัยยังสามารถใช้อำนาจตามมาตรา 8/1 ในการประสานขอให้คณะกรรมการสาธารณสุขจังหวัด หรือคณะกรรมการสาธารณสุขกรุงเทพมหานครดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงหรือให้ความเห็นประกอบการออกคำสั่งตามมาตรา 8 โดยไม่ชักช้า
2) กรณีแหล่งกำเนิดเหตุรำคาญเป็นที่สาธารณะ เจ้าพนักงานท้องถิ่นสามารถใช้อำนาจตามมาตรา 27 วรรคสอง ในการจัดการระงับเหตุรำคาญนั้นตามที่จำเป็น และเก็บค่าใช้จ่ายในการดำเนินการกับผู้ก่อเหตุ
3) กรณีแหล่งกำเนิดเหตุรำคาญอยู่ในสถานที่เอกชน เจ้าพนักงานท้องถิ่นสามารถใช้อำนาจตามมาตรา 28 วรรคสาม ในการออกคำสั่งเป็นหนังสือห้ามไม่ให้ใช้สถานที่นั้นจนกว่าจะมีการระงับเหตุรำคาญจนเป็นที่พอใจ
4) ในกรณีร้ายแรง เจ้าพนักงานสาธารณสุขมีอำนาจตามมาตรา 46 วรรคสอง ในการออกคำสั่งเป็นวาจาหรือหนังสือแก่ผู้ก่อเหตุนั้นให้ระงับการดำเนินการที่ก่อให้เกิดเหตุรำคาญตามที่เห็นสมควร แล้วจึงแจ้งให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นทราบ และอาจให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นออกคำสั่งเป็นหนังสือตามที่ผู้รับคำสั่งร้องขอภายใน 7 วัน
หากผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งมาตรา 27 วรรคหนึ่ง หรือมาตรา 28 วรรคหนึ่ง หรือวรรคสาม หรือฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามประกาศ ที่ออกตามมาตรา 28/1 วรรคสอง โดยไม่มีเหตุหรือข้อแก้ตัวอันสมควร จะมีโทษตามมาตรา 74 จำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 25,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
นอกจากนี้ จะต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น กฎหมายว่าด้วยควบคุมยุทธภัณฑ์ กฎหมายว่าด้วยเครื่องกระสุน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน กฎหมายว่าด้วยโรงงาน กฎหมายว่าด้วยคุ้มครองแรงงาน ประกาศกระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงแรงงาน และกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง หลักเกณฑ์การควบคุม และกำกับดูแลการผลิต การค้า การครอบครอง การขนส่งดอกไม้เพลิง และวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตดอกไม้เพลิง พ.ศ. 2547
แนวทางการปฏิบัติตามกฎหมาย เพื่อควบคุมดูแลกิจการผลิต สะสม ขนส่งดอกไม้เพลิง.docx |
ขนาดไฟล์ 61KB
ดาวน์โหลด 36 ครั้ง
|
ดาวน์โหลด
แจ้งไฟล์เสีย |
|
แนวทางการปฏิบัติตามกฎหมาย เพื่อควบคุมดูแลกิจการผลิต สะสม ขนส่งดอกไม้เพลิง.pdf |
ขนาดไฟล์ 106KB
ดาวน์โหลด 69 ครั้ง
|
ดาวน์โหลด
แจ้งไฟล์เสีย |