คุณกำลังมองหาอะไร?

นวทางปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข กรณีตู้จำหน่ายเครื่องดื่มแบบหยอดเหรียญอัตโนมัติ ที่มีการผลิตหรือสะสมเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของกัญชา

กรมอนามัย พร้อมให้ข้อมูลข่าวสารที่มีประโยชน์สำหรับคุณ

02.02.2566
288
0
แชร์
02
กุมภาพันธ์
2566

แนวทางปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข กรณีตู้จำหน่ายเครื่องดื่มแบบหยอดเหรียญอัตโนมัติ ที่มีการผลิตหรือสะสมเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของกัญชา

พระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. ๒๕๓๕ และที่แก้ไขเพิ่มเติม หรือกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุขเป็นกฎหมายที่กระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการบังคับใช้กฎหมายเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการคุ้มครองประชาชนด้านสุขลักษณะและการอนามัยสิ่งแวดล้อม โดยเจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจตรวจตราแนะนำ ตรวจสอบ ควบคุมดูแล รวมทั้งการออกใบอนุญาต ออกหนังสือรับรองการแจ้ง ออกคำสั่งทางปกครอง ซึ่งครอบคลุมทั้งกิจกรรม การกระทำ และกิจการประเภทต่าง ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอนามัยของประชาชน“แนวทางปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข กรณีตู้จำหน่ายเครื่องดื่มแบบหยอดเหรียญอัตโนมัติที่มีการผลิตหรือสะสมเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของกัญชา”
จัดทำขึ้นเพื่อให้เจ้าพนักงานตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข ได้แก่ เจ้าพนักงานท้องถิ่น เจ้าพนักงานสาธารณสุข และผู้ซึ่งได้รับแต่งตั้งจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น ใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติงานเชิงรุกตามอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุขในการ ควบคุม กำกับ ดูแลการประกอบกิจการที่เกี่ยวข้องกับการใช้กัญชา กัญชง ซึ่งในการดำเนินงานของเจ้าพนักงานจะต้องมีความรู้ความเข้าใจถึงขอบเขตอำนาจหน้าที่และหลักเกณฑ์การปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องได้กำหนดไว้เพื่อให้การปฏิบัติงานมีมาตรฐานและเป็นแนวทางเดียวกัน รวมทั้งเพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองสุขภาพและสิทธิตามกฎหมายของผู้เกี่ยวข้องอย่างเป็นธรรม รายละเอียดดังนี้

ข้อเท็จจริงและขอบเขตความหมายของกิจการ

      ๑.ตู้กดเครื่องดื่มแบบหยอดเหรียญอัตโนมัติที่มีลักษณะการทำงานของตู้คือมีการผสมผงเครื่องดื่มชนิด ต่าง ๆ อาทิ ชา กาแฟ กัญชา กับน้ำร้อนภายใน ตู้ และผลิตออกมาเป็นเครื่องดื่มร้อนใส่แก้วกระดาษหรือภาชนะอื่นใด ที่ติดตั้งพร้อมในตู้ กรณีนี้เข้าข่ายเป็นกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ พ.ศ. ๒๕๕๘ กิจการประเภทที่ ๓ (๑๗) การผลิต สะสม หรือแบ่งบรรจุ น้ำอัดลม น้ำหวาน น้ำโซดา น้ำจากพืช ผัก ผลไม้ เครื่องดื่มชนิดต่าง ๆ (เทียบเคียงกับมติคณะอนุกรรมการบริหารและขับเคลื่อนการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข ในการประชุมครั้งที่ ๑๐-๑/๒๕๖๔
เมื่อวันที่ ๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๓ ซึ่งได้พิจารณาข้อหารือกรณีการประกอบกิจการตู้กาแฟหยอดเหรียญอัตโนมัติ)

       ๒. ตู้จำหน่ายเครื่องดื่มแบบหยอดเหรียญอัตโนมัติ ที่บรรจุหรือสะสมเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของกัญชาในขวดหรือภาชนะบรรจุที่ปิดสนิทไว้จำหน่าย กรณีนี้เข?าข่ายเป็นกิจการที่เป็นอันตรายต?อสุขภาพ ประเภทที่ 3 (17) การสะสม เครื่องดื่มชนิดต่าง ๆ บรรจุกระป๋อง ขวดหรือภาชนะอื่นใด

บทบาทอำนาจหน้าที่ของราชการส่วนท้องถิ่น

    ๑. ออกข้อบัญญัติท้องถิ่น โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. ๒๕๓๕ และที่แก้ไขเพิ่มเติม ออกข้อบัญญัติท้องถิ่นกำหนดให้กิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ พ.ศ. ๒๕๕๘ กิจการประเภทที่ ๓ (๑๗) การผลิต สะสม หรือแบ่งบรรจุ น้ำอัดลม น้ำหวาน น้ำโซดา น้ำจากพืช
ผัก ผลไม้ เครื่องดื่มชนิดต่าง ๆ เป็นกิจการที่ต้องมีการควบคุมภายในท้องถิ่น หากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใดได้ออกข้อบัญญัติ
ท้องถิ่นควบคุมกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพประเภทดังกล่าวไว้ ผู้ใดจะประกอบกิจการประเภทดังกล่าวในลักษณะที่เป็นการค้า
ต้องได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นนั้นก่อนประกอบกิจการ ตามมาตรา ๓๓ แห่งพระราชบัญญัตินี้ ยกเว้นเป็นการดำเนินการในสถานที่จำหน่ายอาหาร การเร่ขาย การขายในตลาด และการผลิตเพื่อบริโภคในครัวเรือน ซึ่งไม่ต้องขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ เนื่องจากจะได้รับใบอนุญาตหรือได้รับหนังสือรับรองการแจ้งสถานที่จำหน่ายอาหาร การเร่ขาย การขายในตลาดอยู่แล้ว แล้วแต่กรณี

     ๒. การพิจารณาออกใบอนุญาต ราชการส่วนท้องถิ่นต้องตรวจสอบและพิจารณาอนุญาตโดยต้องไม่ขัดต่อกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องด้วย เนื่องจากกฎกระทรวงควบคุมสถานประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ พ.ศ. ๒๕๖๐ ข้อ ๕ กำหนดให้ผู้ดำเนินกิจการในสถานประกอบกิจการประเภทที่ราชการส่วนท้องถิ่นได้ออกข้อบัญญัติท้องถิ่นกำหนดให้เป็นกิจการที่ต้องควบคุมและมีผลใช้บังคับในท้องถิ่นนั้นแล้วต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องด้วย โดยเฉพาะกรณีการประกอบกิจการติดตั้งตู้กดเครื่องดื่มแบบ
หยอดเหรียญอัตโนมัติที่มีการจำหน่ายเครื่องดื่มประเภทกัญชานั้น จะต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องด้วย อาทิ ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง สมุนไพรควบคุม (กัญชา)
พ.ศ. 2565 ซึ่งกำหนดให้กัญชา (เฉพาะส่วนของช่อดอก) เป็นสมุนไพรควบคุม ผู้ใดจะจำหน่ายสมุนไพรควบคุมต้องได้รับใบอนุญาตตามความในมาตรา ๔๖ แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ. ๒๕๔๒ และต้องปฏิบัติตามเงื่อนไข อาทิ ห้ามจำหน่ายสมุนไพรควบคุมให้กับผู้มีอายุต่ำกว่ายี่สิบปี สตรีมีครรภ์หรือสตรีให้นมบุตร นักเรียน นิสิตหรือนักศึกษา
ห้ามจำหน่ายสมุนไพรควบคุม หรือสินค้าแปรรูปจากสมุนไพรควบคุมเพื่อการค้าผ่านเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ ผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์หรือเครือข่ายคอมพิวเตอร์ หรือในกรณีการประกอบกิจการติดตั้งตู้จำหน่ายเครื่องดื่มแบบหยอดเหรียญอัตโนมัติที่บรรจุหรือสะสมเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของกัญชาในขวดหรือภาชนะบรรจุที่ปิดสนิทไว้จำหน่าย จะต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องด้วย อาทิ กฎหมายว่าด้วยอาหาร

     ๓. การตรวจตรา ควบคุม กำกับ ดูแลสถานประกอบกิจการ รวมทั้งการเปรียบเทียบปรับและการดำเนินคดี ราชการส่วนท้องถิ่นมีอำนาจหน้าที่ตรวจตรา ควบคุม กำกับดูแลให้สถานประกอบกิจการปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมาย หากพบว่าผู้ใดติดตั้งตู้จำหน่ายเครื่องดื่มอัตโนมัติหรือประกอบกิจการประเภทดังกล่าวในลักษณะที่เป็นการค้าโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นก่อนประกอบกิจการ ยกเว้นเป็นการดำเนินการในสถานที่จำหน่ายอาหาร การเร่ขาย การขายในตลาด และการผลิตเพื่อบริโภคในครัวเรือน ราชการส่วนท้องถิ่นสามารถดำเนินการได้ ดังนี้

     (๑) แจ้งให้ผู้ประกอบกิจการหยุดดำเนินกิจการทันทีและให้มายื่นขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพตามข้อบัญญัติของเทศบาลนครนนทบุรี ซึ่งออกตามความในมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. ๒๕๓๕ และที่แก้ไขเพิ่มเติม กำหนดให้กิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ พ.ศ. ๒๕๕๘ กิจการประเภทที่ ๓ (๑๗) การผลิต สะสม หรือแบ่งบรรจุ น้ำอัดลม น้ำหวาน น้ำโซดา น้ำจากพืช ผัก ผลไม้ เครื่องดื่มชนิดต่าง ๆ เป็นกิจการที่ต้องมีการควบคุมภายในท้องถิ่น

     (๒) ดำเนินการตามกระบวนการเปรียบเทียบปรับและดำเนินคดีตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข โดยรวบรวมพยานหลักฐานการกระทำความผิดและส่งเรื่องไปยังคณะกรรมการเปรียบเทียบในเขตจังหวัด ตามมาตรา ๘๕ แห่งพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. ๒๕๓๕ และที่แก้ไขเพิ่มเติม เนื่องจากผู้ใดประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพในลักษณะที่เป็นการค้าโดยไม่ได้รับใบอนุญาตก่อนการดำเนินกิจการถือเป็นความผิดสำเร็จแล้ว มีโทษตามมาตรา ๗๑ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๓๓ วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษจำคุก ไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ   

บทบาทหน้าที่ของผู้ประกอบกิจการ

      ๑. ต้องตรวจสอบว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ออกข้อบัญญัติท้องถิ่นกำหนดให้กิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ พ.ศ. ๒๕๕๘ กิจการประเภทที่ ๓ (๑๗) การผลิต สะสม หรือแบ่งบรรจุ
น้ำอัดลม น้ำหวาน น้ำโซดา น้ำจากพืช ผัก ผลไม้ เครื่องดื่มชนิดต่าง ๆ เป็นกิจการที่ต้องมีการควบคุมภายในท้องถิ่นแล้วหรือไม่

     ๒. หากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นออกข้อบัญญัติท้องถิ่นควบคุมกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพประเภทดังกล่าวข้างต้นไว้แล้ว ผู้ใดจะติดตั้งตู้จำหน่ายเครื่องดื่มแบบหยอดเหรียญอัตโนมัติหรือผู้ใดจะประกอบกิจการประเภทดังกล่าวในลักษณะที่เป็นการค้าต้องยื่นขอรับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่เป็นที่ตั้งของตู้จำหน่ายเครื่องดื่มแบบหยอดเหรียญอัตโนมัติก่อนประกอบกิจการยกเว้นเป็นการดำเนินการในสถานที่จำหน่ายอาหาร การเร่ขาย การขายในตลาด และการผลิตเพื่อบริโภคในครัวเรือน

บทกำหนดโทษ

มาตรา ๗๑ แห่งพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. ๒๕๓๕ และที่แก้ไขเพิ่มเติม ผู้ใดฝ่าฝืนประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพโดยไม่ได้รับใบอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

การสื่อสาร สร้างความเข้าใจและประสานความร่วมมือทุกภาคส่วน

มาตรการกฎหมายเป็นมาตรการหนึ่งที่จะควบคุมดูแล แต่ที่สำคัญคือการสร้างความร่วมมือทุกภาคส่วน โดยมุ่งเน้นสร้างความรอบรู้ให้กับประชาชนเพื่อให้สามารถตัดสินใจเลือกบริโภคอาหารที่ปลอดภัยต่อสุขภาพและมีส่วนร่วมเฝ้าระวังร่วมกับภาครัฐและในส่วนผู้ประกอบกิจการก็ต้องสร้างความตระหนักต่อสังคมในการที่จะระมัดระวังการผลิตหรือสะสมจำหน่ายเครื่องดื่มผสมกัญชาที่ปลอดภัยต่อสุขภาพ และควรระวังการจำหน่ายในเด็กหรือสตรีมีครรภ์ 

ไฟล์ที่เกี่ยวข้อง

แก้ไข ข้อมูล ณ วันที่ 3 ก.พ. 66 แนวทางปฏิบัติฯ ตู้จำห.pdf
ขนาดไฟล์ 135KB
ดาวน์โหลด 62 ครั้ง
ดาวน์โหลด
แจ้งไฟล์เสีย

รูปภาพที่เกี่ยวข้อง

กรมอนามัย
เรามีสาระสุขภาพดีๆ
ส่งตรงถึงคุณ
ทุกวัน