คุณกำลังมองหาอะไร?

นวทางการบังคับใช้มาตรการตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข กรณีมีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19

กรมอนามัย พร้อมให้ข้อมูลข่าวสารที่มีประโยชน์สำหรับคุณ

11.02.2564
875
0
แชร์
11
กุมภาพันธ์
2564

แนวทางการบังคับใช้มาตรการตามกฎหมาย

กรณี มีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19)) ในตลาดและกิจการประเภทอื่นๆ ตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข

         

    กรณีที่มีการระบาดของโรคติดต่อโควิด 19 ซึ่งเป็นโรคติดต่ออันตราย ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ชื่อและอาการสำคัญของโรคติดต่ออันตราย (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2563 ในตลาดของเอกชนหรือตลาดของกระทรวง ทบวง กรม ราชการส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรของรัฐ โดยพบว่าผู้ขายของหรือผู้ช่วยขายของในตลาดเป็นโรคติดต่อ หรือพบผู้ป่วยเป็นโรคติดต่อซึ่งยืนยันว่าบริโภคอาหารหรือได้รับเชื้อโรคมาจากตลาดนั้น หรือตรวจพบเชื้อโรคซึ่งทำให้เกิดการระบาดของโรคในสินค้าที่จำหน่ายในตลาดนั้น
ซึ่งถือว่าเป็นกรณีที่เกิดหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าจะเกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อสภาวะความเป็นอยู่ที่เหมาะสมกับการดำรงชีพของประชาชน ตามข้อ 26 แห่งกฎกระทรวงว่าด้วยสุขลักษณะของตลาด พ.ศ. 2551 ดังนั้น จึงสามารถใช้เหตุเทียบเคียงกรณีดังกล่าวนี้เพื่อพิจารณาบังคับใช้มาตรการตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุขกับกิจการการเก็บ ขน หรือกำจัดสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอยตามมาตรา 19 การประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพตามมาตรา 32 สถานที่สะสมอาหารหรือสถานที่จำหน่ายอาหารตามมาตรา 38 และการจำหน่ายสินค้าในที่หรือทางสาธารณะตามมาตรา 41 โดยดำเนินการได้ดังนี้

  1. อธิบดีกรมอนามัย มีอำนาจตามมาตรา 8 ออกคำสั่งให้เจ้าของวัตถุหรือบุคคลซึ่งเกี่ยวข้องกับการก่อเหตุนี้ระงับการกระทำหรือกระทำการใดๆ เพื่อแก้ไขหรือป้องกันความเสียหายนี้ได้ตามสมควร โดยอธิบดีได้มอบอำนาจตามมาตรา 8 ให้กับผู้ว่าราชการจังหวัดแล้วทุกจังหวัด ตามคำสั่งกรมอนามัย ที่ 1032/2547 เรื่อง มอบอำนาจให้ผู้ว่าราชการจังหวัดออกคำสั่งตามมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 ดังนั้น ผู้ว่าราชการจังหวัดจึงมีอำนาจในการออกคำสั่งตามมาตรา 8 นี้ได้

  2. เจ้าพนักงานท้องถิ่น มีอำนาจตามความในมาตรา 45 ในกรณีที่ปรากฏว่าผู้ดำเนินกิจการใด ๆ ตามที่ระบุไว้ในพระราชบัญญัตินี้ ปฏิบัติไม่ถูกต้องตามพระราชบัญญัตินี้ กฎกระทรวง ข้อบัญญัติท้องถิ่นหรือประกาศที่ออกตามพระราชบัญญัตินี้ หรือถ้าการดำเนินกิจการนั้นจะก่อให้เกิดหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าจะเกิดอันตรายอย่างร้ายแรงต่อสุขภาพของประชาชน เจ้าพนักงานท้องถิ่นจะสั่งให้ผู้นั้นหยุดดำเนินกิจการนั้นไว้ทันทีเป็นการชั่วคราวจนกว่าจะเป็นที่พอใจแก่เจ้าพนักงานท้องถิ่นว่าปราศจากอันตรายแล้วก็ได้

  3. เจ้าพนักงานสาธารณสุข มีอำนาจตามความในมาตรา 46 วรรคสอง ในกรณีที่เจ้าพนักงานสาธารณสุขตรวจพบเหตุที่ไม่ถูกต้องหรือมีการกระทำใด ๆ ที่ฝ่าฝืนต่อบทแห่งพระราชบัญญัตินี้ กฎกระทรวง ข้อบัญญัติท้องถิ่น หรือประกาศที่ออกตามพระราชบัญญัตินี้จะมีผลกระทบต่อสภาวะความเป็นอยู่ที่เหมาะสมกับการดำรงชีพของประชาชน หรือจะเป็นอันตรายอย่างร้ายแรงต่อสุขภาพของประชาชนเป็นส่วนรวมซึ่งสมควรจะดำเนินการแก้ไขโดยเร่งด่วน ให้เจ้าพนักงานสาธารณสุขมีอำนาจออกคำสั่งให้ผู้กระทำการไม่ถูกต้องหรือฝ่าฝืนดังกล่าวแก้ไขหรือระงับเหตุนั้น หรือดำเนินการใด ๆ เพื่อแก้ไขหรือระงับเหตุนั้นได้ตามสมควร แล้วให้แจ้งเจ้าพนักงานท้องถิ่นทราบ

รายการเอกสารที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

  1. พระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

  2. กฎกระทรวงว่าด้วยสุขลักษณะของตลาด พ.ศ. 2551

  3. ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ชื่อและอาการสำคัญของโรคติดต่ออันตราย (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2563

  4. คำสั่งกรมอนามัย ที่ 1032/2547 เรื่อง มอบอำนาจให้ผู้ว่าราชการจังหวัดออกคำสั่งตามมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535

  1. ตัวอย่างการออกคำสั่งอธิบดีกรมอนามัย/ผู้ว่าราชการจังหวัดที่ได้รับมอบอำนาจตามมาตรา 8

  2. ตัวอย่างการออกคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามมาตรา 45

  3. ตัวอย่างการออกคำสั่งเจ้าพนักงานสาธารณสุขให้แก้ไขหรือระงับเหตุที่ไม่ถูกต้องตามมาตรา 46 วรรคสอง

ดาวน์โหลดเอกสารได้ที่นี่

 

ไฟล์ที่เกี่ยวข้อง

แนวทางการบังคับใช้กฎหมายฯcovid19.pdf
ขนาดไฟล์ 170KB
ดาวน์โหลด 56 ครั้ง
ดาวน์โหลด
แจ้งไฟล์เสีย

รูปภาพที่เกี่ยวข้อง

กรมอนามัย
เรามีสาระสุขภาพดีๆ
ส่งตรงถึงคุณ
ทุกวัน