คุณกำลังมองหาอะไร?

กา

การศึกษาการประยุกต์ใช้กระบวนการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ

กรมอนามัย พร้อมให้ข้อมูลข่าวสารที่มีประโยชน์สำหรับคุณ

03.02.2564
61
0
แชร์
03
กุมภาพันธ์
2564
การศึกษาการประยุกต์ใช้กระบวนการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ ในการยกร่างข้อกำหนดของท้องถิ่น
 
โดย นัทฐ์หทัย ไตรฐิ่น นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ
วิภา รุจิจนากุล นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ
วิไลวรรณ มาเจริญทรัพย์ นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ
ศูนย์บริหารกฎหมายสาธารณสุข กรมอนามัย
 
บทคัดย่อ
          การศึกษาการประยุกต์ใช้กระบวนการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพในการยกร่างข้อกำหนดของท้องถิ่น มีวัตถุประสงค์เพื่อยกร่างข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนตำบลท้ายน้ำ ในการควบคุมกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 โดยนำกระบวนการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพมาประยุกต์ใช้ และเพื่อพัฒนาศักยภาพองค์การบริหารส่วนตำบลท้ายน้ำ เรื่องการยกร่างข้อกำหนดของท้องถิ่นและการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ การศึกษาวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ดำเนินการศึกษาวิจัยโดยอิงกับขั้นตอนการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพและขั้นตอนการยกร่างข้อกำหนดของท้องถิ่น
 
          ผลการศึกษา พบว่า ในกระบวนการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ ขั้นตอนการกลั่นกรองได้เลือก "การประกอบกิจการสีข้าวด้วยเครื่องจักร” เป็นกิจการที่ต้องประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ โดยพิจารณาจากนโยบายของผู้บริหารองค์การบริหารส่วนตำบลท้ายน้ำและการก่อให้เกิดปัญหาด้านฝุ่นละอองอย่างชัดเจนในพื้นที่ สำหรับขั้นตอนการกำหนดขอบเขตการศึกษา ได้ดำเนินการโดยจัดเวทีระดมความคิดเห็นผู้มีส่วนได้เสียเพื่อรวบรวมผลกระทบต่อสุขภาพทั้งในเชิงบวกและเชิงลบ และการทบทวนงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการกำหนดขอบเขตและเครื่องมือการศึกษา ส่วนขั้นตอนการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ ได้เก็บข้อมูลโดยใช้แบบสอบถาม และใช้หลักการทางสถิติในการสุ่มตัวอย่าง นอกจากนี้ยังได้เก็บข้อมูลทุติยภูมิโดยการทบทวนวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องด้วย ข้อมูลที่ได้นำมาวิเคราะห์เพื่อพิจารณากำหนดหลักเกณฑ์ มาตรการและเงื่อนไขทางวิชาการเพื่อกำหนดในร่างข้อบัญญัติ ทั้งนี้ได้นำหลักแกณฑ์มาตรฐานตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องมาพิจารณาร่วมด้วย นอกจากนี้ยังได้ดำเนินการตรวจสอบความเป็นไปได้ในการนำร่างข้อบัญญัติไปปฏิบัติก่อนที่นำเสนอต่อสภาท้องถิ่นเห็นชอบโดยส่งร่างข้อบัญญัติไปให้ผู้ประกอบการสีข้าวด้วยเครื่องจักรในพื้นที่องค์การบริหารส่วนตำบลท้ายน้ำให้ความคิดเห็นและจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นเพื่อให้ผู้มีส่วนได้เสียได้แสดงความคิดเห็น
 
          จากผลการศึกษาสรุปได้ว่ากระบวนการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการยกร่างข้อกำหนดของท้องถิ่นได้ โดยในขั้นตอนการกลั่นกรอง สามารถนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อการยกร่างข้อกำหนดของท้องถิ่นในขั้นตอนการสำรวจสภาพปัญหาของท้องถิ่น เพื่อให้ทราบปัญหาที่แท้จริงของท้องถิ่นนั้นและจัดลำดับความสำคัญของปัญหาเพื่อเลือกปัญหาที่ต้องการแก้ไขก่อนมายกร่างข้อกำหนดของท้องถิ่นเพื่อควบคุม ส่วนขั้นตอนการกำหนดขอบเขตการศึกษาและขั้นตอนการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ จะทำให้ได้ข้อมูลที่สามารถนำมาพิจารณากำหนดหลักเกณฑ์ มาตรการ และเงื่อนไขที่เหมาะสมในการแก้ไขปัญหาและตรงตามความต้องการของชุมชน
 
          ในการศึกษาครั้งนี้ มีข้อเสนอแนะคือ กรมอนามัยควรพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดและศูนย์อนามัยให้สามารถเป็นที่ปรึกษาแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในเรื่องการยกร่างข้อกำหนดของท้องถิ่นและการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ และควรประสานความร่วมมือกับกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นในการพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้มีความรู้ความเข้าใจและสามารถนำไปปฏิบัติได้จริงในเรื่องการยกร่างข้อกำหนดของท้องถิ่นและการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ รวมทั้ง นำเสนอผลการศึกษาต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อเป็นแนวทางในการยกร่างข้อกำหนดของท้องถิ่นโดยนำกระบวนการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพมาประยุกต์ใช้ สำหรับการศึกษาวิจัยครั้งต่อไป ควรจะนำรูปแบบการศึกษาวิจัยในครั้งนี้ไปศึกษาในท้องถิ่นอื่นที่มีบริบทต่างกันเพื่อให้ได้รูปแบบที่เหมาะสมกับบริบทของแต่ละพื้นที่ และในการศึกษาวิจัยควรมีการเก็บข้อมูลเชิงคุณภาพ และการเก็บข้อมูลด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์เพื่อนำมาวิเคราะห์บ่งชี้ลักษณะของผลกระทบต่อสุขภาพที่คาดว่าจะเกิดขึ้นกับประชากรกลุ่มเสี่ยง ซึ่งได้แก่ การประเมินความเสี่ยงต่อสุขภาพและวิธีการทางระบาดวิทยา

กรมอนามัย
เรามีสาระสุขภาพดีๆ
ส่งตรงถึงคุณ
ทุกวัน