คุณกำลังมองหาอะไร?

กา

การศึกษาการส่งเสริมการใช้มาตรการด้านกฎหมายตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 ผ่านสื่อวิทยุชุมชน : กรณีศึกษาเทศบาลนครอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี

กรมอนามัย พร้อมให้ข้อมูลข่าวสารที่มีประโยชน์สำหรับคุณ

03.02.2564
184
0
แชร์
03
กุมภาพันธ์
2564

การศึกษาการส่งเสริมการใช้มาตรการด้านกฎหมาย
ตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 ผ่านสื่อวิทยุชุมชน
: กรณีศึกษาเทศบาลนครอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี

บทคัดย่อ

          การวิจัยครั้งนี้ เป็นการวิจัยเชิงพรรณา เพื่อศึกษาความรู้และการรับรู้เรื่องกฎหมายของประชาชนตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 โดยผ่านสื่อวิทยุชุมชนหนองบัว จ.อุบลราชธานี คลื่น 90.5 mHz. มีกิจกรรมในการดำเนินงานการจัดรายการวิทยุ โดยการมีส่วนร่วมของชุมชน และเก็บข้อมูลก่อนและหลังการดำเนินงานเพื่อเป็นการประเมินผลโครงการ ผลการวิจัยพบว่า มีประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดรายการวิทยุชุมชนเพื่อพัฒนาชุมชนด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม กลุ่มตัวอย่างที่สำรวจเป็นเพศหญิงมากกว่าเพศชาย โดยในก่อนการดำเนินงานมีเพศหญิงร้อยละ 57.5 เพศชาย มีร้อยละ 42.5 และหลังการดำเนินงาน มีเพศหญิง ร้อยละ42.3 เพศชายมีร้อยละ 37.8 อายุของกลุ่มตัวอย่าง พบว่า ก่อนการดำเนินงานมีอายุเฉลี่ย 35.0 ปี และหลังการดำเนินงานมีอายุเฉลี่ย 36.3 ปี ก่อนดำเนินงานกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย/ปวช. จำนวน 114 คน คิดเป็นร้อยละ 28.5 ส่วนหลังดำเนินการส่วนใหญ่มีระดับการศึกษาในระดับปริญญาตรี จำนวน 157 คน คิดเป็นร้อยละ 39.3

 

          สำหรับอาชีพของกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีอาชีพค้าขายและธุรกิจ ก่อนการดำเนินงานกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่จะชอบ รับฟังวิทยุ ในช่วงเวลา เวลา 20.00 – 22.00 น. จำนวน 105 คน คิดเป็นร้อยละ 26.3 รองลงมา จะรับฟังในช่วงเวลา 05.00 – 07.00 น. จำนวน 75 คน คิดเป็นร้อยละ 18.8 แต่หลังการดำเนินงาน กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่จะรับฟังวิทยุ ในช่วงเวลา 05.00 – 07.00 น จำนวน 111 คน คิดเป็นร้อยละ 22.2 รองลงมา จะฟังในช่วง เวลา 20.00 – 22.00 น จำนวน 68 คน คิดเป็นร้อยละ 13.6 ตามลำดับ

 

          ก่อนการดำเนินการกลุ่มตัวอย่างที่เคยได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ.2535 จำนวน 90 คน คิดเป็นร้อยละ 22.5 และ ได้รับทราบข้อมูลจากสื่อประเภท วิทยุจำนวน 38 คน คิดเป็นร้อยละ 9.4 แต่หลังดำเนินการเคยรับทราบข้อมูลถึง 238 คน คิดเป็นร้อยละ 47.6 คน และ ได้รับทราบข้อมูลจากสื่อประเภท วิทยุมากที่สุด จำนวน 124 คน คิดเป็นร้อยละ 24.8

 

          ก่อนการดำเนินงานกลุ่มตัวอย่างเคยได้รับข่าวสารเกี่ยวกับพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 จากสื่อวิทยุ F.M. 90.5 MHz. จำนวน 20 คน คิดเป็นร้อยละ 11.76 แต่หลังดำเนินการ มีจำนวน 98 คน คิดเป็นร้อยละ 72.05

 

          ในชุมชนมีปัญหาด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมที่ต้องการแก้ไขในเรื่อง ขยะมูลฝอยมากที่สุด รองลงมาคือ ปัญหาเรื่องกลิ่นเหม็น ปัญหาเรื่องการวางขายสินค้า อาหาร/แผงลอยไม่เป็นระเบียบ และตลาดสดสกปรก

 

          เมื่อทดสอบความรู้เกี่ยวกับสิทธิหน้าที่ตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 พบว่า ก่อนการดำเนินงานกลุ่มตัวอย่าง มีคะแนนเฉลี่ย 11.3 คะแนน ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน 3.13 และหลังการดำเนินงานมีคะแนนเฉลี่ย 12.1 คะแนน ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน 2.49 จากการทดสอบค่าคะแนนเฉลี่ยความรู้ของกลุ่มตัวอย่างก่อนและหลังดำเนินการ พบว่า มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ( p-value < 0.05)

 

          ปัญหาอุปสรรคในการรับฟังสื่อจากประชาชน พบว่า การประชาสัมพันธ์น้อยไม่ทั่วถึง รูปแบบการประชาสัมพันธ์ไม่หลากหลาย ช่วงเวลาในการประชาสัมพันธ์ไม่เหมาะสม ประชาชนไม่ทราบถึงประโยชน์ที่จะได้รับจากกฎหมายนี้ และ เอกสารเกี่ยวกับพระราชบัญญัติการสาธารณสุขหาอ่านได้ยาก เป็นต้น สำหรับข้อเสนอแนะ พบว่า ต้องการให้ประชาสัมพันธ์ โดยผ่านสื่อโทรทัศน์มากที่สุด รองลงมา ได้แก่ สื่อวิทยุ ช่วงเวลาที่ดีที่สุดในการรับฟัง ได้แก่ เวลา 20.00-22.00 น. รองลงมา คือช่วงเวลา 19.00-20.00 น. ต้องการประชาสัมพันธ์ เรื่อง การจัดการมูลฝอยทั่วไปและมูลฝอยติดเชื้อมากที่สุด ตลาดสด ร้านอาหารและแผงลอยจำหน่ายอาหาร

 

          ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย กรมอนามัยควรส่งเสริมการประชาสัมพันธ์การรับรู้สิทธิของประชาชนตาม พรบ.การสาธารณสุข พ.ศ.2535 ผ่านสื่อโทรทัศน์และวิทยุเพราะเป็นสื่อที่เข้าถึงประชาชนได้ง่ายที่สุด ควรใช้กลยุทธ์ในการให้ความรู้แก่ประชาชนในการรับรู้สิทธิตามกฎหมายเพื่อเป็นการผลักดันให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการออกข้อบัญญัติท้องถิ่นและบังคับใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ การออกข้อบัญญัติท้องถิ่นเพื่อแก้ไขปัญหาด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมควรส่งเสริมการใช้กระบวนการมีส่วนร่วมจากประชาชนให้มากที่สุด ควรส่งเสริมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้สิ่งดีๆขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้านกฎหมายสาธารณสุข และ
ควรศึกษาประเด็นปัญหางานด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมที่มีผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนที่เกิดขึ้นจริงในชุมชน แล้วดำเนินการแก้ไขปัญหาโดยใช้กฎหมายตาม พรบ. การสาธารณสุข พ.ศ.2535 เป็นเครื่องมือ และผลักดันให้กำหนดเป็นนโยบายสาธารณะ เพื่อแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนต่อไป

กรมอนามัย
เรามีสาระสุขภาพดีๆ
ส่งตรงถึงคุณ
ทุกวัน