คุณกำลังมองหาอะไร?

กา

การศึกษาเพื่อพัฒนาเครื่องมือการประเมินผลการใช้กฎหมายสาธารณสุข

กรมอนามัย พร้อมให้ข้อมูลข่าวสารที่มีประโยชน์สำหรับคุณ

03.02.2564
39
0
แชร์
03
กุมภาพันธ์
2564
บทคัดย่อการวิจัย เรื่อง การศึกษาเพื่อพัฒนาเครื่องมือการประเมินผลการใช้กฎหมายสาธารณสุข
ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับเทศบาล
 
          การวิจัย เรื่อง การศึกษาเพื่อพัฒนาเครื่องมือการประเมินผลการใช้กฎหมายสาธารณสุขขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับเทศบาล มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสถานการณ์การใช้กฎหมายสาธารณสุขของเทศบาลและพัฒนาเครื่องมือการประเมินผลการใช้กฎหมายสาธารณสุขของเทศบาล การศึกษาวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาได้แก่ เทศบาลนคร เทศบาลเมือง และเทศบาลตำบล เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อศึกษาสถานการณ์การใช้กฎหมายสาธารณสุขของเทศบาลคือแบบสัมภาษณ์ ซึ่งข้อมูลสถานการณ์การใช้กฎหมายสาธารณสุขนี้ได้นำมาวิเคราะห์เพื่อประกอบในการพัฒนาเครื่องมือการประเมินผลการใช้กฎหมายสาธารณสุขของเทศบาล การจัดทำร่างเครื่องมือการประเมินผลการใช้กฎหมายสาธารณสุข ดำเนินการโดยประชุมระดมความคิดเห็นจากเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง การตรวจสอบคุณภาพเครื่องมือการประเมินผลการใช้กฎหมายสาธารณสุขด้านความเที่ยงตรงตามเนื้อหา ดำเนินการโดยการวิเคราะห์เชิงเหตุผล อาศัยดุลยพินิจทางวิชาการของผู้เชี่ยวชาญเป็นเกณฑ์ การตรวจสอบเครื่องมือการประเมินผลการใช้กฎหมายสาธารณสุขในด้านความเชื่อมั่นและความเหมาะสมด้านการใช้ภาษา ความยากของข้อคำถาม ความชัดเจนของข้อคำถาม และคำศัพท์เฉพาะต่างๆ โดยนำเครื่องมือการประเมินผลการใช้กฎหมายสาธารณสุขไปทดลองใช้ในพื้นที่เทศบาล จำนวน 2 ครั้ง
 
          ผลการศึกษาสถานการณ์การใช้กฎหมายสาธารณสุขของเทศบาล พบว่า ยังมีปัญหาในการดำเนินการเพื่อให้บรรลุผลตามเจตนารมณ์แห่งกฎหมายการสาธารณสุขอยู่มาก คือ เทศบาลส่วนใหญ่ตรา เทศบัญญัติยังไม่ครอบคลุมทุกเรื่องที่กฎหมายให้อำนาจไว้ การอ้างอิงบทบัญญัติของกฎหมายไม่ถูกต้อง การยกร่างเทศบัญญัติส่วนใหญ่ยังคงอาศัยการดูแบบอย่างจากข้อบัญญัติของของเทศบาลข้างเคียง โดยมิได้มีการสำรวจสภาพปัญหาเรื่องนั้นๆ ในเขตท้องถิ่นก่อน เทศบาลส่วนใหญ่ประชาสัมพันธ์เทศบัญญัติ โดยติดประกาศไว้ที่สำนักงานเทศบาล ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น ประกาศเสียงตามสาย เผยแพร่ทางอินเตอร์เน็ต ประชุมประชาคม และออกหน่วยเทศบาลเคลื่อนที่ สำหรับการจัดประชุมชี้แจงทำความเข้าใจผู้ประกอบการเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ตามเทศบัญญัตินั้นยังไม่มีเทศบาลใดดำเนินการในเรื่องนี้เลย สำหรับผลการศึกษาการพัฒนาเครื่องมือการประเมินผลการใช้กฎหมายสาธารณสุขของเทศบาลนั้น ได้กำหนดประเด็นหลักที่จะประเมิน 6 ประเด็น ประกอบด้วย (1)การออกข้อกำหนดของท้องถิ่น โดยมีประเด็นย่อย คือ จำนวนและคุณลักษณะของข้อกำหนดของท้องถิ่น ขั้นตอนการออกข้อกำหนดของท้องถิ่น การเผยแพร่ข้อกำหนดของท้องถิ่น (2)การออกใบอนุญาต โดยมีประเด็นย่อย คือ ขั้นตอนการขอรับใบอนุญาต การตรวจสอบก่อนการอนุญาต การจัดทำทะเบียนสถานประกอบการ การต่ออายุใบอนุญาต (3)การออกหนังสือรับรองการแจ้ง โดยมีประเด็นย่อย คือ ขั้นตอนการขอรับหนังสือรับรองการแจ้ง การจัดทำทะเบียนสถานประกอบการ การติดตามให้ผู้ประกอบการมาเสียค่าธรรมเนียมหนังสือรับรองการแจ้งรายปี (4)การตรวจแนะนำ โดยมีประเด็นย่อย คือ แผนการตรวจแนะนำ รูปแบบของหนังสือตรวจแนะนำ ลักษณะการตรวจแนะนำกรณีมีเรื่องร้องเรียน (5)การออกคำสั่งทางปกครอง โดยมีประเด็นย่อย คือ ความครอบคลุมของการออกคำสั่ง ในกรณีสมควรต้องออกคำสั่ง ความถูกต้องของแบบคำสั่ง และ (6)การเปรียบเทียบปรับและดำเนินคดี โดยมีประเด็นย่อย คือ ความครอบคลุมของการเปรียบเทียบปรับและการดำเนินคดี (ในกรณีสมควรจะต้องดำเนินการ) ขั้นตอนการเปรียบเทียบปรับและการดำเนินคดี สำหรับการกำหนดคะแนน ได้กำหนดให้ 6 ประเด็นหลักรวมกันเป็น 100 คะแนน แล้วกระจายน้ำหนักคะแนนให้กับแต่ละประเด็นหลักโดยพิจารณาจากความสำคัญของเนื้อหาในประเด็นหลักนั้นๆ เป็นสำคัญ แล้วใช้มติของผู้เข้าประชุมระดมความคิดเห็นเป็นข้อสรุป ดังนี้ การยกร่างข้อกำหนดของท้องถิ่นเท่ากับ 25 คะแนน ใบอนุญาต 20 คะแนน หนังสือรับรองการแจ้ง 5 คะแนน การตรวจแนะนำ 29 คะแนน การออกคำสั่ง 15 คะแนน การเปรียบเทียบปรับและการดำเนินคดี 6 คะแนน ส่วนการกำหนดคะแนนประเด็นย่อย ดำเนินการโดยนำคะแนนของประเด็นหลักมากระจายน้ำหนักคะแนนให้กับแต่ละประเด็นย่อยโดยพิจารณาจากความสำคัญของเนื้อหาในประเด็นย่อยนั้นๆ เป็นสำคัญ แล้วใช้มติของผู้เข้าประชุมระดมความคิดเห็นเป็นข้อสรุป
 
          การวิจัยครั้งนี้ มีข้อเสนอแนะคือให้กรมอนามัยประสานความร่วมมือกับกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นในการผลักดันให้เทศบาลมีการประเมินตนเองเรื่องการบังคับใช้กฎหมายตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 อย่างต่อเนื่อง พัฒนาศักยภาพเจ้าพนักงานให้มีความรู้และทักษะในการบังคับใช้กฎหมายตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 สนับสนุนให้เทศบาลมีการดำเนินงานตามอำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด มีการสำรวจ รวบรวม และวิเคราะห์สภาพปัญหาด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมเพื่อเป็นข้อมูลประกอบในการยกร่างเทศบัญญัติ และเมื่อประกาศใช้เทศบัญญัติแล้วควรประชุมชี้แจงประชาชนและผู้ประกอบการเพื่อทำความเข้าใจถึงสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายท้องถิ่น สำหรับการศึกษาวิจัยครั้งต่อไป ควรจะวิจัยเชิงคุณภาพเพื่อศึกษาข้อมูลในเชิงลึกถึงสาเหตุและปัจจัยต่อการบังคับใช้กฎหมายสาธารณสุขของผู้บริหารท้องถิ่น และศึกษารูปแบบการบังคับใช้กฎหมายสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพ

กรมอนามัย
เรามีสาระสุขภาพดีๆ
ส่งตรงถึงคุณ
ทุกวัน